"หนูเปล่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่"
ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ชี้แจงเรื่องดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ (29 มิ.ย.) ว่าเธออยู่ในทีมเศรษฐกิจของพรรค พปชร. มาตั้งแต่ก่อตั้งมาแล้ว และที่นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคกล่าวในระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงการมอบหมายให้เธอรับผิดชอบงานนี้ต่อไป
"คงไม่ได้เรียกว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดกันไปอีก เพราะอันนี้เป็นเรื่องของการทำนโยบายของพรรค เราคงจะเป็นเวทีหนึ่งที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และเราจะตกผลึกออกมาเป็นนโยบาย ผ่านพรรคการเมืองมาที่นายกรัฐมนตรี และ ครม." เธออธิบาย
นางนฤมลอ้างถึงคำพูดนายอนุชาว่า ภารกิจหลักที่ทีมเศรษฐกิจจะทำคือ นโยบายที่จะออกมาช่วยพี่น้องประชาชน เพราะพรรคมี ส.ส.อยู่ในทุกภาคของประเทศไทย พวกเขาจะรับเรื่องเดือดร้อนของประชาชนมา มีทีมงานของพรรค คือทีมที่เคยทำงานกันอยู่เดิม และทีมที่เข้ามาเสริม ซึ่งทุกพรรคการเมืองก็ทำแบบนี้ จากนั้นจะมีทีมงานวิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน เข้ามาเติมเต็ม ในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อออกเป็นนโยบาย
รู้จัก "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" อายุ : 47 ปี
มีประสบการณ์ด้านการเงินการคลัง
นอกจากนี้ น.ส.นฤมลยังเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาทั้งในด้านวิชาการและการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินและการคลังมาด้วย
"จากประสบการณ์จริง ๆ แต่เดิมเป็นอาจารย์ด้านการเงิน สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย และมีงานวิชาการที่ทำให้เป็นศาสตราจารย์แล้ว ยังได้เป็นที่ปรึกษาของตลาดหลักทรัพย์มากว่า 10 ปี และเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารหลายแห่ง ในส่วนของตลาดเงิน และช่วยในเรื่องของภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ในตำแหน่งกรรมการ ซึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้เข้ามาช่วยงานในกระทรวงการคลัง ใครถามว่าเราทำอะไรมาบ้างก็คงตอบได้ประมาณนี้ เราก็มีความรู้ในเรื่องของตลาดทุน ตลาดเงิน งานวิจัยด้านนโยบายที่เคยช่วยมาอย่างที่กระทรวงการคลังที่ทราบประวัติกันดี" เธอกล่าว
เมื่อถามว่า ท้อใจหรือไม่ เมื่อยังไม่ทันจะทำหน้าที่ก็มีกระแสในทางลบออกมาก่อนแล้ว นางนฤมลกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่ต้องมีคำวิพากษ์วิจารณ์ อะไรที่นำมาปรับปรุงได้ก็จะนำมาปรับปรุง
กระแสข่าวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสมาชิกกลุ่ม "สี่กุมาร" นักการเมืองคนสนิทของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในฝ่ายบริหารชุดใหม่ของ พปชร. หลังเกิดความไม่ลงรอยภายในพรรคตั้งแต่ช่วงจัดโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 2/1" เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ประเด็นดังกล่าว นางนฤมลระบุว่าไม่ได้มีปัญหากันและยังเคารพนายสมคิดเหมือนเดิมและไม่มีปัญหาอะไร
เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ความเคลื่อนไหวแรกก่อนการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าใหญ่และกรรมการบริหารพรรค คือ การลาออกของกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พปชร. 18 คน นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน กลุ่มสามมิตร และกลุ่ม กปปส. ส่วนนางนฤมล มีตำแหน่งเป็น กก.บห.ด้วย แต่ไม่ได้ยื่นลาออก
การลาออกของ กก.บห.พรรค เกินกว่าครึ่งหนึ่ง ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่มีเป้าสู่การเปลี่ยนแปลงตัวหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม "สี่กุมาร" นักการเมืองคนสนิทของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และยังเป็นกลุ่มที่มีเก้าอี้รัฐมนตรี 3 กระทรวงด้วย ได้แก่ รมว.คลัง พลังงาน และการอุดมศึกษาฯ
ความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปตามแผนการ เมื่อการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พปชร. ในวันที่ 27 มิ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ด้วยมติเอกฉันท์และไร้การเสนอชื่ออื่นเข้าแข่งขัน นอกจากนี้ในบรรดา กก.บห.ชุดใหม่ ไม่มีชื่อของนักการเมืองคนสนิทของนายสมคิดแม้แต่คนเดียว หลังจากนั้นนายอนุชา เลขาธิการพรรคให้ข่าวว่าพรรคได้มอบหมายให้นางนฤมลดูแลเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของพรรค
ข่าวดังกล่าวทำให้บรรดาผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม อาทิ สุทธิชัย หยุ่น นักสื่อสารมวลชน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้มีชื่อเสียงหลายคนก็ตั้งคำถามและวิจารณ์ในเรื่องนี้
Cr.BBC