"ลุงตู่" ไอเดียบรรเจิด เตรียมเปลี่ยน
"เจ็ดวันอันตราย"เป็น"เจ็ดวันแห่งความสุข"
หลังยอดผู้เสียชีวิตพุ่งยอด 6วันพุ่ง317 ศพ
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนในการร่วมจัดงานเนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งจิตอาสาในการดูแลการจราจรอำนวยความสะดวกในการเดินทางต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลจะได้มีการนำข้อมูลสถิติการบาดเจ็บสูญเสียทางการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่าน เป็นกรณีศึกษาแม้ยอดการสูญเสียจะน้อยลงก็ตาม เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินการในครั้งต่อไป สิ่งสำคัญคือประชาชนทุกคนต้องดูแลและระมัดระวังตนเองให้มากขึ้นด้วย ในห้วงเวลาของเทศกาลต่อไปที่จะมีขึ้นในอนาคต เช่น เทศกาลสงกานต์ที่จะมีวันหยุดยาวอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางที่จะสามารถลดการสูญเสียทั้งปีได้ลงไปอีก พร้อมเสนอความเป็นไปได้ในการตั้งชื่อรณรงค์ใหม่จากเดิม “เจ็ดวันอันตราย” เปลี่ยนเป็น “เจ็ดวันแห่งความสุข” เพื่อให้ทุกคนคำนึงถึงความสุขและความปลอดภัยทางการจราจร โดยไม่ต้องการไปตำหนิฝ่ายใดทั้งสิ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างเส้นใหม่ๆ หรือการขยายขนาดเลนถนนนั้น สามารถทำได้ก่อนโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เสร็จทั้งสาย ขณะเดียวกันหากจะมีการปลูกสิ่งก่อสร้างใด เช่น บ้านจัดสรร ฯลฯ ก็ขอห่างไกลจากถนนสายหลัก เพื่อมิให้ส่งผลต่อการขยายโครงการในอนาคต
อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 547 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 55 ราย ผู้บาดเจ็บ 577 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 39.31 ขับรถเร็ว ร้อยละ 28.34 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.35 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 65.81 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.75 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.83 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01 – 04.00 น. ร้อยละ 30.71 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 21.84
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,036 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,989 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,014,405 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 246,328 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 61,416 ราย ไม่มีใบขับขี่ 55,467 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา (32 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ราชบุรี และอุดรธานี (จังหวัดละ 4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา (35 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (27 ธ.ค.62 – 1 ม.ค.63) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,076 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 317 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,160 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด ได้แก่ ตราด พะเยา ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา ลำพูน และสตูล จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สงขลา (95 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (14 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สงขลา (100 คน)