"หม่อมเต่าโบกมือลา"
โดนใบสั่งออกหรือทิศทางไม่ตรงกันแน่?
ส่อปรับใหญ่รัฐนาวา"ลุงตู่"พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หลังเลี้ยงไข้ทนเสียงด่าชาวประชามายาวนานถึงประสิทธิภาพการบริหารตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวน โดยเฉพาะรูปแบบการบริหารที่ประชาชนสัมผัสได้ คล้ายกับประโยคของอดีตนักวิชาการ นักคิดผู้ลาลับโลกไปอย่างอ.โต้ง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ผ่านมาตรา44 ที่ใช้มาตลอด 5 ปี(2557-2561) แต่เมื่อปี 2562 เล่นบทรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลผสมความเบ็ดเสร็จที่เคยใช้มานานจึงหมดเวลา ทำให้เอกภาพในการใช้อำนาจที่เคยใช้มาตลอด กลายเป็นวงดนตรีที่เล่นผิดคีย์ เพราะแม้แต่รองนายกรัฐมนตรีทีคุมกระทรวงด้านเศรษฐกิจ มีพร้อมกันถึง 3 คน3 พรรค โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน สำนักนายกรัฐมนตรี(สศช.-สำนักงบประมาณ) อยู่ภายใต้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม อยู่ภายใต้นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ภายใต้นายจุลินทร์ ลักษณ์วิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่กระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่ภายใต้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดังนั้น สิ่งที่สะท้อนต่อสายตาภายนอกคือ ความเป็นเอกภาพมีปัญหายากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยราบรื่น โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจ และองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ต้องวิ่งรอกเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีคราวละหลาย ๆ ที่ในเรื่องเดียวกัน ลองนึกภาพดูว่า ความซับซอนที่ไม่จำเป็นมีมากน้อยเพีรยงใดและล่าสุดแม้แต่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอย่าง มรว.จัตุมงคล โสณกุล บุคคลที่สมควรได้ดูแลงานทางด้านเศรษฐกิจ แต่ด้วยโครงสร้างทางการเมือง เขาถูกมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน แม้เขาจะไม่ถนัดแต่ก็ยากจะปฏิเสธ
บีบีซีไทยได้เขียนบทวิเคราะห์เรื่อง "รวมพลังประชาชาติไทย : ย้อน 5 ความคิดการเมือง ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล วันขึ้นเป็นหัวหน้า “พรรคพสกนิกร” ก่อนทิ้งหัวโขน ไว้น่่าสนใจ ลองติดตาม
พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เตรียมเปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า รปช. ในเวลาบ่ายสองวันนี้(17มิย.63)
การตั้งโต๊ะแถลงข่าวจะเกิดขึ้นที่อาคารทู แปซิฟิก เพลซ ถ.สุขุมวิท ของ น.ส.น้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ บุตรสาวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้ง รปช. โดยอาคารแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานแถลงข่าวการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของนายสุเทพ, มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย รวมถึงกิจการต่าง ๆ ของพรรค รปช.
สำหรับผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค ซึ่งจะรับหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคในระหว่างนี้, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนใหม่ และนายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้อำนวยการพรรค และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่คาดว่า รปช. จะมีคำอธิบายแก่สังคมคือกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) แจ้งผลประเมินการทำงานของ ม.ร.ว.จัตุมงคลในตำแหน่ง รมว.แรงงาน ในรอบปีที่ผ่านมาว่า "ไม่ผ่านการประเมิน" เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ไม่ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อนของภาคแรงงาน โดยเฉพาะผู้ว่างงาน ทำให้รัฐบาลและพรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ความเคลื่อนไหวของ รปช. เกิดขึ้นคู่ขนานกับความพยายามเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวาระครบขวบปีของรัฐบาล แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ หลังถูกสื่อมวลชนสอบถามว่าการลาออกของ ม.ร.ว.จัตุมงคลจะส่งผลให้มีการปรับ ครม. หรือไม่
ทว่าก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ออกมาระบุว่า "คงไม่ใช่ตอนนี้ คงไม่ต้องเสนอตัว" และยังบอกสื่อมวลชนเมื่อ 9 มิ.ย. ด้วยว่า "กรุณาเลิกและงดเสนอข่าวพวกนี้ได้แล้ว มันเหมือนดราม่า" แต่ก็ไม่ทำให้ความเคลื่อนไหวในพรรคต่าง ๆ ลดลงข้าม Facebook โพสต์ โดย Taona
ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่านา บุตรสาวของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้ยืนยันข่าวการทิ้งเก้าอี้หัวหน้า รปช. ของบิดา และได้เลี้ยงข้าวปลอบใจ พร้อมส่งกำลังใจให้นายกฯ ในการปรับ ครม.
ม.ร.ว.จัตุมงคลวัย 76 ปี เป็นสมาชิกในราชตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 4 ซึ่ง "ไม่ชอบการเมือง" เอาเสียเลย ก่อนยอมเข้าสู่โลกการเมืองเต็มตัวเมื่อปี 2561 ตามคำเชิญชวนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.
"การเมืองก็คือการที่พยายามที่จะทำให้เราชนะคนอื่น มันไม่เหมือนธุรกิจเอกชน ทำของขายของ ทำของดี ขายได้ก็ดีใจ วางการตลาดดี ส่งเสริมการขายดี ไม่ได้ต้องไปทะเลาะกับใครที่ไหน แต่การเมืองต้องทะเลาะ ดังนั้นไม่ทะเลาะกับใครได้ดีที่สุด มีศัตรูน้อย" คุณชายวังบางขุนพรหมเคยกล่าวไว้กับบีบีซีไทย
เขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้า รปช. พรรคที่ประกาศตัวเป็น "พรรคพสกนิกร" และประกาศอุดมการณ์ข้อแรกคือ "เทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์"
หลังจากนั้น หม่อมเต่าก็ออกเดินเท้าพร้อมกับนายสุเทพเพื่อแนะนำพรรคและผู้สมัคร ส.ส. สังกัด รปช. ผ่านปฏิบัติการ "เดินคารวะแผ่นดิน" หลังเคยเป็น "หัวคะแนนกิตติมศักดิ์" เดินขอคะแนนเสียงช่วย ม.ล. อภิมงคล โสณกุล บุตรชาย ในคราวลงสมัคร ส.ส. กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งแรกเมื่อปี 2548
ส่วนในการทำงาน หม่อมเต่านิยามตัวเองเป็นพวก "เป้าหมายมีไว้พุ่งชน" หรือ Very Target Oriented สะท้อนผ่านประวัติและประสบการณ์อันโชกโชนในวงการการเงิน การคลัง และภาคธุรกิจ
บีบีซีไทยย้อนดูความคิดทางการเมืองของ ม.ร.ว.จัตุมงคลอีกครั้งในวันที่เขาทิ้งหัวโขนหัวหน้าพรรค 5 เสียงของรัฐบาล 20 พรรค
1. เล่นการเมืองแบบไม่ขอเป็นฝ่ายค้าน
"พอชนะแล้วไปอยู่ฝ่ายค้านก็ได้แต่ด่าลูกเดียว ไม่สนุก เป็นฝ่ายรัฐบาล เป็นรัฐมนตรี เป็นเลขานุการรัฐมนตรี โอ้โห! อำนาจแยะ ถ้าเป็นฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากขึ้นชื่อว่าเป็นดาวรัฐสภา ว่าเก่ง อะไรเก่ง ไม่สนุก"
2. พร้อมเป็นตัวชี้ขาดศึกชิงตั้งรัฐบาลของ 2 ขั้วการเมือง
"เราขายนโยบายของเรา แล้วค่อนข้างพร้อมจะรวมกับทุกคน รวมทั้งการที่เราไม่ส่ง บัญชีนายกรัฐมนตรี เมื่อไม่ส่งบัญชีนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีคู่แข่ง เพราะเราไม่มีคนที่แข่งอยู่" และ "ไม่จำเป็นต้องฝ่ายไหน ถ้าฝ่ายไหนตกลงกันได้ เราก็ยอมเข้าทางนั้น"
3. มุมมองต่อรัฐธรรมนูญฉบับ "ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา"
หัวใจสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ 2560 คือไม่ต้องการมีพรรคที่เป็นใหญ่พรรคเดียว ไม่ใช้ศัพท์ว่าคนนะครับ เพราะว่ามันแรง แต่ไม่ต้องการมีพรรคที่ครอบงำแล้วทำเกินกว่าที่ควร ก็จะมีคนไปร่วมรัฐบาลที่ท้วงติงด้วย หรือไม่ไปด้วย ทำให้มีสมดุลขึ้นมา
4. มุมมองต่อการ "ยืดอำนาจ" ของหัวหน้า คสช.
"ทำไมเขาอยากอยู่นาน เขาก็อยากทำอะไรให้มันสำเร็จ... ถ้าเผื่อไม่เข้าใจเศรษฐกิจ ไม่เข้าใจประชาชน ก็อยู่นานนักไม่ได้หรอก เพราะว่าไปแล้วมันไม่เดิน คนทุกคนก็ไม่เอาเขา"
5. ภาพที่อยากให้สังคมจดจำในฐานะนักการเมือง
"สามารถทำพรรคการเมืองของประชาชนสำเร็จ ขอให้ได้ ส.ส. อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด (25 คนขึ้นไป) ถ้าได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ยังไม่แจ้งเกิด มันยังไม่เกิด เพราะทำตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าได้ 5 เปอร์เซ็นต์เกิด ไม่ได้บอกว่าจะได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์นะ แต่ว่าถ้าได้อันนั้น ผมก็จะได้ถือว่าเวลาผมตายไป อายุมากแล้วนะฮะ กำนันก็เหมือนกันน่ะ เกิดเป็นผีลอยผ่านมา หรือดูมาจากสวรรค์หรือนรก เห็นเขามาก็เออนี่นะเราเป็นคนเริ่มกิจการนี้กันในเมืองไทย"
ทว่า ม.ร.ว.จัตุมงคลต้องพลาดเป้าไปถึง 20 เสียง แม้แต่น้องชายของนายสุเทพ ที่ลาออกจาก ปชป. มาลงสมัคร ส.ส. ในสังกัด รปช. ยังต้องกลายเป็น "ส.ต." (สอบตก)
"เป็นเรื่องที่ไม่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน"
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวถึงการลาออกว่า จริงๆ ผมมีแนวความคิดว่า เลิกกับพรรค เลิกกับภรรยา ไม่อธิบายดีที่สุด แต่ยังหวังว่า คนจะยังซัพพอร์ตพรรคนี้ต่อถ้ายังเดินไปในทิศทางพรรคการเมืองของประชาชน และได้เรียนท่านนายกฯ ทันทีทีลาออก ได้บอกท่านว่า ตามสบายเลยนะ ไม่ต้องห่วงผม แต่ผมยังไม่ลาออกจาก รมว.แรงงาน เพราะรู้ว่า ต้องปรับ ครม. ได้บอกไปว่า ท่านไม่ต้องเป็นห่วงผม
เมื่อถามว่า ทิศทางในการทำงานในกระทรวงแรงงานจะเป็นไปอย่างไร ได้ตอบว่า ยังเหมือนเดิม ใครจะเชื่อ ไม่เชื่อก็ตามแต่ ที่ทำมากระทรวงแรงงาน ก็มีทิศทางของเขา นักข่าวน่าจะรู้ดีกว่าผม ผมก็พยายามผลักดันไปทางเรื่องเทคนิคอล โซลูชั่น หรือทางด้านวิชาการมากขึ้น ก็ได้แค่ระดับหนึ่ง การจะเปลี่ยนทิศทางใหญ่ๆ หนักๆ จะทำทันทีไม่ได้ ต้องใช้เวลาเป็นปี เช่น สำนักงานเศรษฐกิจแรงงาน และธนาคารประกันสังคม แต่บางเรื่องได้เริ่มเดินหน้าไปแล้ว
เมื่อถามว่า พรรคบอกไม่ผ่านโปรทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคและตำแหน่ง รมว.แรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล ตอบว่า ที่บอกว่า ผมลาออกเพราะทำงานไม่เข้าเป้า ไม่เป็นความจริง เพราะว่าไม่ได้มีเป้าแบบนั้น ผมทำงานได้ และค่อนข้างพอใจ เพราะบางอย่างมาจากศูนย์ การทำงานของ 5 เสือแรงงาน แต่ละกรมเดิมต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีทิศทางในการควบคุม ตอนนี้ดีขึ้นมาก ผมทำจากศูนย์จนขึ้นมาระดับหนึ่ง จะให้พอใจต้องใช้เวลาเท่าไร สัก 5 ปีมั้ง ส่วนที่ลาออกจากหัวหน้าพรรคไม่ใช่เรื่องใครไม่พอใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่า พอใจคืออะไร ที่ผมทำผมก็แค่ทำให้มันเดินหน้า แต่เป็นเรื่องที่ไม่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน
ด้านนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง รักษาการเลขาธิการพรรค รปช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เขาได้รับหนังสือลาออกของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ซึ่งได้ถูกฝากผ่าน ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เมื่อช่วงเที่ยงเมื่อวานี้ (16 มิ.ย.) ในขณะที่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส. ประจำสัปดาห์
นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ทีแรกนึกว่าเขาชิงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกันนอกรอบมาแล้ว โดยพรรคจะจัดประชุมใหญ่สามัญในวันที่ 5 ก.ค. โดยมีวาระหลักคือการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กก.บห. รวมทั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร และคณะกรรมการจริยธรรมและวินัยชุดใหม่ เนื่องจากครบวาระ 2 ปีแล้ว
"เมื่อผมได้รับหนังสือลาออกของท่าน และดูในรายละเอียดแล้วได้นำเข้าที่ประชุม ท่านก็ระบุเพิ่มเติมอีกว่าได้ลาออกจากสมาชิกพรรคด้วยให้มีผลตามที่ลงในหนังสือเป็นต้นไป ผมเองก็ค่อนข้างตกใจนิดหน่อย เพราะท่านตัดสินใจกะทันหันและรวดเร็ว" เขาอธิบาย
เสนอ ดร.อเนก นั่ง รมว. แรงงานต่อ
สำหรับผลของการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคดังกล่าว ทำให้ กก.บห. อีก 7 ตำแหน่งต้องยุติลงด้วย โดยระหว่างนี้ นายทวีศักดิ์จะปฏิบัติหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค
รปช. จะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า ม.ร.ว. จัตุมงคลไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคอีกต่อไปแล้ว จึงไม่อยู่ในวิสัยได้รับการพิจารณาจากนายกฯ แต่ระหว่างนี้จะยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป แต่ในกรณีที่นายกฯ จะปรับ ครม. ทางพรรคเตรียมเสนอชื่อ ศ.พิเศษ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อชั้นทั้งในด้านงานวิชาการและงานด้านการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทน
Cr.BBCTHAI-Thairath