คนรวยเสียภาษีน้อยกว่าคนจน
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เมื่อเร็วๆ นี้มีการถกเถียงกันในประเด็น "Respect My Tax Money" โดยบอกว่าบริษัทห้างร้านและประชาชนในกรุงเทพมหานครเสียภาษีมากกว่าประชาชนต่างจังหวัด โดยนัยนี้ตีความว่าน่าจะมีสิทธิเสียงมากกว่าคนต่างจังหวัด ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตย 1 สิทธิ 1 เสียง หรือ One Man, One Vote. ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงขอนำเสนอข้อมูลเพื่อความเข้าใจร่วมกันดังนี้:
รายได้ของประเทศไทยแยกตามประเภทของภาษีประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556
รายได้แยกตามประเภท ล้านบาท %
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 698,087 27%
ภาษีเงินได้นิติบุคคล 592,499 23%
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 299,034 12%
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 113,291 4%
ภาษีอื่นๆของสรรพากร 61,796 2%
ภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน รถ เบียร์ ยาสูบ ฯลฯ) 432,868 17%
ภาษีกรมศุลกากร 113,382 4%
รายได้รัฐวิสาหกิจ 101,448 4%
รายได้หน่วยงานอื่น 159,016 6%
รวมรายได้ประจำปีงบประมาณ 2556 2,571,421 100%
ที่คิดว่าภาษีส่วนใหญ่มาจากบริษัทห้างร้านหรือประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงนั้น เป็นความเข้าใจผิด จากยอดรายได้ของประเทศไทยทั้งหมดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 2,571,421 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคลเก็บได้เพียง 23% ของภาษีทั้งหมด ส่วนภาษีบุคคลธรรมดามีเพียง 12% เท่านั้น รายได้อันดับหนึ่งของประเทศมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 27%
ส่วนที่ว่ากรุงเทพมหานครเสียภาษีมากกว่าเพราะมักเป็นแหล่งผลิตสุดท้ายหรือแหล่งส่งออก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงเกินครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำไปของรายได้ประชาชาติโดยรวม แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทห้างร้านหรือคนในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสียภาษีมากกว่าประชาชนในชนบทแต่อย่างใด
อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่เสียภาษีทางอ้อมต่าง ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีปิโตรเลียม ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยแต่เป็นคนธรรมดาจำนวนหลายสิบล้านคน จึงเสียภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดาที่ร่ำรวย
อันที่จริงนิติบุคคลต่างๆ (ยกเว้นบริษัทมหาชนซึ่งมีไม่กี่ร้อยแห่ง) มักเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่าง ๆ หรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด แม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ยังอาจเสียภาษีมากกว่าคนรวย เพราะพวกเขาต้องเสียภาษีล้อเลื่อน (จักรยานยนต์ รถยนต์รายปี) ส่วนคนร่ำรวย มีที่ดินอยู่จำนวนมหาศาล มูลค่านับร้อย นับพัน นับหมื่นล้านบาท ก็แทบไม่เคยเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอะไรเลย
เมื่อพิเคราะห์ถึงภาษีเหล่านี้ จึงเกิดคำถามว่าใครกันแน่ที่เสียสละเพื่อชาติ คนร่ำรวยล้นฟ้า หรือประชาชนทั่วไป และถ้าถึงกาลสิ้นชาติเช่นประเทศในอินโดจีน ประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นก็ชี้ชัดว่าพวกคนร่ำรวยต่างหากที่หนีไปจากมาตุภูมิของตนเอง ปล่อยให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะชาวชนบท ฝุ่นเมืองทั่วไป กู้ชาติให้พวกเขากลับมาเสพสุขกันอีกครั้งหนึ่ง