เปิดสูตรฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย (ตอนจบ)
ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด โควิด-๑๙
โดย ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการอิสระ นักเศรษฐมิติชื่อดังระดับโลก อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยหลายสิบปีก่อน และอาจารย์บรรยายในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ได้รับความน่าเชื่อถือและการยอมรับในแวดวงเศรษฐศาสตร์ว่า มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐมิติที่หาตัวจับยาก และมีผลงานระดับโลก
(ต่อจากตอนที่2)
๔. ภาพเหตุการณ์ในอนาคต
โลกหลังโควิด๑๙ คงจะเปลี่ยนไปสู่ “มรรควิถีใหม่” ทางเศรษฐกิจและสังคม (new normal) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการ การเกี่ยวข้องระหว่างปัจเจกบุคคล การรวมกลุ่ม การเป็นเครือข่าย ที่นำไปสู่การปรับตัวของระบบความต้องการสินค้าและบริการที่เปลี่ยนไป
จากเดิมที่ผู้บริโภคเคยมีการสัมผัสตรงกับทางเลือกของสินค้าและบริการในระบบการค้าปลีกดั่งเดิมสู่การบริโภคสมัยใหม่ ผ่านระบบการตลาดแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงของระบบซื้อขายผ่านห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ การขายของริมถนน การเข้าบาร์ และ ผับ การเข้ายิม การปฎิสัมพันธ์ทางกีฬา คอนเสิร์ต และการแสดง ฯลฯ สู่การไม่สัมผัสตรงกับตัวสินค้าและบริการสู่การสัมผัสต่อสินค้าและบริการเสมือนจริงก่อนเพื่อตัดสินใจ ก่อนจ่ายเงินเพื่อการบริโภคจริง
ระบบการผลิตในโรงงานหัตถะอุตสาหกรรม การเดินทาง และตลอดจน ระบบการอยู่อาศัย ในภาคเมืองและชนบทจะส่งผลต่อการจ้างงาน ตลาดแรงงาน และ อุปทานแรงงานที่ต่างไปจากเดิม
สิ่งที่เป็นประเด็นเฉพาะหน้าคือ การมีอุปทานห้องพักส่วนเกินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่มีจำนวนเสนอขายมากกว่าผู้รับบริการที่เป็นนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ลดลงจนเกิดวิกฤตและมีความไม่แน่นอนว่าจะฟื้นตัวหรือไม่ภายในหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า(หากไม่มีวัคซีน)และรูปแบบจะเปลี่ยนไปอย่างไร จากท่องเที่ยวแบบกลุ่ม มาเป็นแบบส่วนบุคคล (Foreign Individual Tourists) หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด มีความสามารถในการจ่ายมากน้อยเพียงใด
แต่แน่ๆ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะต้องลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว
ประเด็นสำคัญในสาขาท่องเที่ยวและการบริการคือ มรรควิถีใหม่ การเว้นระยะห่างทางสังคมและกายภาพที่เป็นข้อบังคับทั่วไป ระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ที่ส่งผลให้ต้นทุนการค้า (trade cost) สูงขึ้น การลงทุนแบบเดิมในการค้าส่ง-ปลีก ไม่คุ้มค่าเพราะอัตรากำไรของการลงทุนต่อพื้นที่ขายลดลง
๔.๑ มาตรการเยียวยาของภาครัฐ จะชดเชยการหดตัว
ทางเศรษฐกิจได้หรือไม่?
มาตรการรัฐฯนำเงินที่มีอยู่ในคลังจนเกือบหมดตัวฯ มาพยุงชีวิตคนจนในเมือง(ไม่ทั่วถึงและสับสน) เกษตรกร (เฉพาะบางส่วน) คนตกงานในระบบประกันสังคมฯ (การจ่ายที่ล่าช้า) แบบกระท่อนกระแท่นและรัฐบาลเสียหน้า แม้กระทรวงการคลัง และ รัฐมนตรีต้องรับคำตำหนิอย่างหนัก แต่จริงๆแล้วควรโทษความผิดพลาดรัฐบาลที่ปิดน่านฟ้าช้าเกินไป และเชื่อคำแนะนำของแพทย์บางกลุ่ม ในการปิดเมืองที่กะทันหัน จนคนแห่เดินทางออกต่างจังหวัด และกลัวว่าจะนำเชื้อไปสู่หมู่บ้านปลายทาง
แต่โชคดีที่ อาสาสมัครสาธารสุขในท้องถิ่น สามารถเข้าไปจัดการได้ทันเวลาจนเชื้อหยุดแพร่กระจาย!
การออกพระราชกำหนดปิดธุรกิจ ปิดเมือง ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด และ เคอร์ฟิว ฯ หากประมาณอย่างหยาบการปิดเมืองทำให้การบริโภคลดลง[1] เท่ากับสามแสนล้านต่อ ๑ เดือนของการปิดเมือง (เมษายน ๒๐๒๐) หากปิดเมืองต่อไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมการบริโภคจะลดลงเท่ากับ หกแสนล้านบาท[2] จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมทุกคนที่มีสติเป็นปรกติจะไม่พอใจนายแพทย์โฆษก ศูนย์บริหารโควิด๑๙ ฯ (ศ.บ.ค.) ที่มักจะพูดนอกเรื่องและมักจะเทศนาสั่งสอนประชาชนทุกวันๆ จนน่าเบื่อ
คำถามที่ว่า รัฐฯ ถังแตกจากการที่มีรายรับภาษีไม่พอ เพราะเศรษฐกิจส่วนรวมเกิดการหดตัวจริงหรือไม่???
คิดง่ายๆหากตัวทวีคูณจากการที่อุปสงค์ต่อการบริโภครวมเท่ากับ ๔ เท่า ดังนั้น การลดลงของการบริโภค หนึ่งบาทจะทำให้การผลิตรวมลดลง สี่เท่าเช่นกันเป็นอย่างน้อย ผลคือการจ้างงานของภาคการผลิตและบริการเอกชนจะลดลง แรงงานที่ตกงานทำให้เกิดการหดตัวรุนแรงมากขึ้นและหากรัฐบาลไม่สามารถเยียวยาได้พอเพียงทั่วถึงและทันเวลาแล้วน่าจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งหดตัวอย่างน่าห่วง
เช่น สมมุติว่ารัฐบาล โอนเงิน รวมๆ ๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือนแก่ คนไทย รวมทุกอาชีพ ๑๕-๒๐ ล้านคนคิดเป็นเงินที่โอน ๗๕,๐๐๐ ล้านบาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ต่อเดือน ซึ่งน้อยเกินกว่าจะดึงให้การหดตัวฟื้นคืนมา เทียบกับการหดตัวของการบริโภคจากการตกงานและไม่มีรายได้ และเนื่องจากรัฐฯถังแตก รัฐบาลไม่น่าสามารถทำการโอนรอบที่สองได้ หากเกิดอะไรขึ้น
(พรก.ทำให้วงจรเศรษฐกิจยามกลางคืนเมืองท่องเที่ยว ตกอยู่ในความเงียบสงัด)
๔.๑.๑ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากนี้มีทางออกหรือไม่
รัฐบาลเลือกที่จะออก พระราชกำหนดการกู้เงิน ๑.๙ ล้านๆ โดยไม่ขอความคิดเห็นจากสาธารณะและรัฐสภาฯ
ในประเด็นคือ ๑) จำนวนการก่อหนี้สาธารณะนี้พอที่จะเสริมแก้ไขปัญหาการเยียวยาหรือไม่ หากมีภาระการเยียวยาเพิ่มหรือยังหลงเหลืออีก การระดมทุนจำนวนนี้จะพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจมหภาคที่หดตัวดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ในการดึงให้อัตราการเจริญเติบโต ที่หดตัวติดลบ ราวๆ ร้อยละ ๖ ให้ติดลบน้อยลงให้ได้ จะทำได้หรือไม่ ในปี ๒๐๒๐/๒๐๒๑ (การที่ต้องพยุงระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากพันธบัตรเอกชนจะครบกำหนดการไถ่ถอน ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณไว้ที่ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อสร้างเสถียรภาพ จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจจริงมากน้อยเพียงใดก็ยากคาดเดาหากเศรษฐกิจยังจมดิ่ง)
การกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมหภาคคงต้องนำไปลงทุนทางตรงโดยผ่านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง (ดูคำจำกัดความที่เชิงอรรถ ๑) ที่ร้อยละ ๘๐ คือรายจ่ายประจำ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องใช้เงินกู้นี้ให้แตกต่างจากการใช้จ่ายเพื่อลงทุนภาครัฐฯ ในภาวะปรกติ (ร้อย ๒๐ ของงบประมาณ ) เพื่อทดแทนการลงทุนรวมของภาคเอกชน ในภาวะปรกติ (การลงทุนภาครัฐรวมเอกชน เท่ากับ ๓.๗ ล้านๆ บาทในปี ๒๕๑๘) เช่น หากในภาวะปรกติภาครัฐฯลงทุนร้อยละ๒๐ ของ ๒.๖๔ ล้านๆบาทหรือ ๕๒๘,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี การกู้เงินในภาวะวิกฤตนี้ก็น่าจะใช้จ่ายเพื่อการลงทุน สองเท่าในภาวะปรกติหรือ ๑.๐๕๖ ล้านๆบาทเป็นต้น ซึ่งอย่างน้อยก็ทดแทนการลงทุนของภาคเอกชนได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่มาก เพราะเอกชนไม่กล้าลงทุนหากรัฐฯ ไม่ชี้นำการใช้จ่าย
ผมจึงอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจใช้หลักวิชาดังกล่าว กำหนดขนาดและทิศทางของแผนการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า ส่วนไหนเป็นเพื่อการกระตุ้นการใช้จ่ายระดับมหภาค ส่วนใดเพื่อเศรษฐกิจระดับสาขา
การกระตุ้นในระดับมหภาค สามารถทำได้โดยการจ้างงานในชนบทและภาคเมือง โดยรัฐบาลให้บุคคลที่สามเป็นผู้ประเมินจากภายนอกเพื่อนำเสนอการวัดผลผลิต-ผลได้-ผลกระทบ (Output Outcome and Impact) ที่เป็นกลาง สมมุติว่าตัวทวีคูณ เท่ากับสามถึงสี่เท่า ผลผลิตประชาชาติฯ ของระบบเศรษฐกิจมหภาคน่าจะขยายตัวเพิ่มเป็น ๓-๔ ล้านล้านบาท ในหนึ่งปีครึ่ง และอาจจะพอดีที่มีการนำวัคซีนมาฉีดให้กับประชากรโลกได้ (หวังว่า) ประเทศของเราก็จะสามารถเข้าสู่การเจริญเติบโตแบบปรกติต่อไป รัฐฯควรถอยออกมาและให้การลงทุนเป็นภารกิจปรกติของภาคเอกชน ต่อไป
(เศรษฐกิจที่หดตัวอย่างหนักคนตกงาน โรงทานจึงเป็นอีกที่พึ่งของคนไทยเวลานี้)
๔.๒ การฟื้นฟูในระดับสาขาการผลิตจะเน้น
ยุทธศาสตร์เรียงลำดับสาขาใดก่อนหลัง (Strategic
Sector)
การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย คงจะต้องเน้นนโยบายเศรษฐกิจที่สร้างความสมดุลระหว่างภาคเมืองและชนบท ที่ต้องหางานให้คนตกงาน สามล้านคนในเมืองกลับมาทำงานมีรายได้ และ ชีวิตปกติ ให้แรงงานตกงานสี่ล้านคนในภาคชนบทที่ทำงานต่ำกว่าระดับปกติสามารถกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เต็มศักยภาพที่ก่อให้เกิดรายได้ที่เป็นตัวเงินสดเพียงพอต่อการบริโภคของครอบครัว
หากรัฐบาลกู้เงิน ๑.๙ ล้านๆบาท ต้องพิจารณาสาขาการผลิต เรียงลำดับโดยเน้นการแก้ปัญหาการตกงานทางตรงทางอ้อมในสาขาที่หดตัวรุนแรงตามลำดับ ดังนี้ ๑)การเข้าแก้ปัญหาการว่างงานในภาคการบริการภายในประเทศ ภาคบริการด้านการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ที่หดตัวอย่างรุนแรง ๒) ภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลาง-ย่อม ๓) ภาคเกษตร ที่กำลังอ่อนแรง ทั้งๆที่เป็น สาขายุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวสู่การผลิตวัตถุดิบการเกษตรเพื่อผลิตอาหารในฐานะเป็นครัวโลก ในขณะที่ประเทศอื่นๆกำลังอ่อนแอในด้านนี้ การเน้นสามสาขานี้เป็นหัวหอกเพื่อดึงให้สาขาอื่นเริ่มฟื้นตัวตาม
กุญแจสำคัญ คือการการฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อให้ระบบการผลิตรักษาระดับการจ้างงานในภาคบริการ และภาคหัตถอุตสาหกรรม และการปรับโครงสร้างภาคเกษตรสู่การเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานตามมูลค่าของ “ครัวไทยสู่โลก” นั่นคือศักยภาพการผลิตของไทยจะรองรับด้วยอุปสงค์จากประเทศต่างๆที่กำลังฟื้นตัว
การใช้เงินกู้เพื่อสร้างงาน ฟื้นฟูการจ้างงานรายสาขาทั้งภาคบริการฯและภาคการผลิตฯ การปรับโครงสร้างภาคเกษตร หากมีแผนงาน-โครงการที่มีการวิเคราะห์ในระดับภาพรวมจนสามารถสร้างแผนงานโครงการที่สอดคล้องกันและกันอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายการปฎิบัติในภาคเศรษฐกิจรายสาขาดังกล่าวที่สอดคล้องกับการใช้เงินกู้เพื่อการสร้างงานในภาคชนบทในรูปแบบ การใช้จ่ายรวมของภาคสาธารณะเพื่อเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Public Investment) และเสริมการให้เงินอุดหนุนและให้เงินกู้ (grant and investment loan) เพื่อการเยียวยาผลกระทบของโควิด๑๙ และ การปรับโครงสร้างระยะกลาง-ยาว
(คนหนุ่มสาววัยทำงานในเมืองจำนวนไม่น้อย เริ่มวางแผนมุ่งสู่ภาคการเกษตร)
ประเด็นที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างการผลิตของภาคการผลิตขนาดกลาง-ย่อม ให้ทันสมัย มีแรงงานที่สามารถปรับผลิตภาพที่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
สาขาการผลิตและบริการที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายแทรกแซงเพื่อปรับอุปทานส่วนเกิน (excess supply) ในภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เป็นประเด็นเชิงนโยบาย แต่ไม่ใช่การแทรกแซงตลาด สาขาการผลิตนี้ระดมสร้างในช่วงก่อนเศรษฐกิจหดตัว ก่อนโควิด๑๙ โดยเฉพาะในภาคเมือง ที่พยายามรองรับการขยายตัวของความเป็นเมืองและตอบสนองต่อนโยบายการขยายโครงสร้างพื้นฐาน การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน
ประเด็นปัญหา คือหลังจากเกิดโควิด๑๙ อุปสงค์ที่หายไป รัฐบาลจะแสวงหาความต้องการนี้จากไหน เพื่อลดอุปทานส่วนเกินสำหรับที่อยู่อาศัยในราคาตลาดกลาง-ล่างทั่วประเทศ ในความเห็นของรายงานนี้ เนื่องจากรัฐฯมีนโยบายเพื่อรองรับผู้สูงอายุที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยในเมือง-ชนบท รัฐฯคงจะต้องพิจารณาหาบ้านและที่พักพิงสำหรับคนชราที่มีโครงสร้างเป็นชุมชนในแนวราบและแนวตั้ง การปรับสภาพให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและพักฟื้นสำหรับผู้สูงอายุโดยการเคหะแห่งชาติฯ และให้มีระบบการบริหารโดยบริษัทเอกชนและ/การบริหารโดยองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรน่าจะเป็นหลักของนโยบายประชากร
การนำอุปทานส่วนเกินบางส่วนเข้าสู่ตลาดบ้านที่อยู่อาศัยในระดับราคาเหมาะสมต่อความสามารถ การผ่อนชำระ (housing affordability and mortgage monthly payment) รัฐฯอาจใช้เงินกู้ที่กำลังจะก่อหนี้ บางส่วนเพื่อนโยบายสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ เสริมการออม ที่ตัวเองผ่อนชำระร่วมกับการอุดหนุนของภาครัฐฯ ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารพาณิชย์ ทั่วไปที่สนใจ เพื่อใช้เงินกู้โควิด๑๙ แก้ปัญหาความเสี่ยงที่ธนาคารและสถาบันการเงิน ที่ปฏิเสธการปล่อยกู้เพื่อการผ่อนชำระ เนื่องจากมีความเสี่ยงและผู้กู้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ (สภาพที่แย่กว่า การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในกรณี ธุรกิจขนาดกลาง-ย่อมและผู้ประกอบการในสาขาการบริการต่างๆภายในประเทศและการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว)
ดังนั้น จึงเป็นภารกิจของกระทรวงการคลังที่จะใช้นโยบายการคลังเพื่อสังคมร่วมกับนโยบายการเงิน เพื่อลดความเสี่ยง เพื่อเสริมภาระกิจการดูแลผู้สูงอายุของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์
๕. การใช้นโยบายการเงินร่วมนโยบายการคลัง นโยบายการประกันชีวิต เพื่อปรับอุปสงค์-อุปทาน ฯลฯ และการออกจากการแทรกแซง (exit strategies) ของภาครัฐฯ
เพื่อให้ความเสี่ยงกระจายร่วมระหว่างกระทรวงการคลังผู้มีส่วนในการค้ำประกัน-สถาบันการเงินผู้ให้กู้-ธุรกิจในเป้าหมายที่กล่าวถึงข้างต้น ผมขอเสนอให้มีการนำเงินกู้จำนวนหนึ่ง (ที่ต้องคำนวณต่อไป) ใส่เข้าในระบบการเงิน-คลัง ดังนี้
๑) กระทรวงการคลัง-ธนาคารแห่งประเทศไทยและระบบสถาบันการเงินเอกชน มีภารกิจในการประมาณขนาดเงินหมุนเวียนที่จำเป็นสำหรับการเข้าพยุงกิจการรายสาขาการบริการฯ การผลิตสินค้าบริการขนาดกลาง-ย่อม และเพื่อการจัดการอุปทานส่วนเกินในตลาดอสังหาริมทรัพย์
๒) นำเครื่องมือทางการคลังเช่นการประกันความเสี่ยงที่มีกฎหมายรองรับ ที่ไม่ผูกพันธ์กับกฎหมายการกำกับดูและระบบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย การใช้เครื่องมือทางการประกันความเสี่ยงนี้รองรับความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง-ย่อม
กระทรวงการคลัง สร้างเครื่องมือทางการเชื่อมโยงเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle) เพื่อลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินเอกชนที่ต้องการปล่อยเครดิตให้ ภาคธุรกิจ ที่มีงบดุลบัญชีไม่พร้อมมากนัก และขาดสภาพคล่องเนื่องจากโควิด๑๙ ให้เข้าสู่แหล่งเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องได้ เสริมธุรกิจด้วยกลไกของสถาบันการเงิน เอกชนและกึ่งรัฐที่ กำกับดูแลอย่างเข็มงวดโดยธนาคารกลาง กระทรวงการคลังอาจปรับข้อเสนอของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในภาพที่แนบมาเพื่อ เพื่อร่วมรับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ กับสถาบันการเงินเอกชนและลูกหนี้ เช่นการถือครองสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันหากเกิดความเสียหาย เมื่อธุรกิจปฎิเสธการชำระหนี้สินตามกำหนด
ปัจจุบันกลไกการประกันสินเชื่อของธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม แม้จะมีโครงสร้างในกรอบกระทรวงการคลังที่ร่วมเสี่ยงได้ แต่อาจยังมีขอบเขตจำกัดเนื่องจากการอัดฉีดเงินทุนหมุนเวียนจากรัฐบาลกลางสู่ภาคเอกชนตรงไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในสภาวะปรกติ อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด๑๙ กลไก การร่วมเสี่ยงนี้ การจัดตั้ง กลไกขับเคลื่อนเฉาะกิจ (Special Purpose Vehicle) ที่ไม่ใช่หน่วยราชการ ไม่ใช่หน่วยนโยบาย มีกฎหมายคุ้มครอง การตัดหนี้เสีย (Write-off) คุ้มครองความบริสุทธิ์ผู้ปฏิบัติ หากร่วมอนุมัติการปล่อยสินเชื่อสู่ธุรกิจ
ในการนี้จำเป็นต้องประมาณการขนาดของทุนที่จะต้องอัดฉีดเข้าไปสู่ระบบการประกันความเสี่ยง (ตามมาตรการทางการคลัง) เสริมสภาพคล่องเพื่อรักษาการจ้างแรงงานของสถานประกอบการขนาดกลาง-ย่อม สถานบริการด้านการท่องเที่ยวและการให้บริการด้านต่างๆที่กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ร่วมกับการอัดฉีดจากมาตรการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพที่ ๖ กลไกการร่วมเสี่ยงในการผลักดันสภาพคล่องเพื่อธุระกิจฯ (Cash flow)จากระบบร่วมเสี่ยงจากด้านการคลังของรัฐบาล (Equity investment) ร่วมกับกลไกของธนาคารกลาง (Central bank funding) ผ่านตัวกลาง ขับเคลื่อนเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle)
๖. ฟ้าหลังฝน
ทีมเศรษฐกิจที่มีความรู้ความสามารถ คงต้องทำการ ๑) ประมาณการขนาดจำนวนหนี้เงินทุนกู้ยืมที่เหมาะสม ๒) บริหารภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคโดยการลงทุนภาครัฐสร้างการจ้างงานในเมือง-ชนบท อย่างน้อย ๑.๐ ล้านล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตร เป็นฐานสู่การเป็นแหล่งอาหารของโลก พร้อมๆกับการจ้างงานในภาคเมืองสำหรับโครงสร้างพื้นฐานฯ
๓) รัฐบาลกู้เงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจรายสาขา โดยเฉพาะการบริการภายในประเทศ และการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่หดตัวอย่างรุนแรง ๔) กระทรวงการคลังนำเครื่องมือทางนโยบายร่วมความเสี่ยงในการปล่อยเครดิตของธนาคารพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม โดยใช้เงินทุนจากการกู้ยืม อย่างน้อย ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
๕) สร้างระบบตลาดบ้านมือสองเพื่อซึมซับอุปทานส่วนเกินของบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อครัวเรือนระดับรายได้น้อย-กลาง โดยการหาผู้ที่มีเงินออมและต้องการที่อยู่อาศัย ในราคาทุน เพื่อเคลียร์ระบบอุปสงค์ส่วนเกิน (ด้านผู้มีรายได้น้อย) กับอุปทานที่เหลือตกค้างส่วนเกินจากโควิด๑๙ โดยการจัดสรรให้ผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศ ที่เป็นผู้สูงอายุ เป็นนโยบายประชากรที่ต้องดำเนินการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ผลได้คือการรักษาเสถียรภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ ราคาถูก ที่ไม่เป็นการแทรกแซงตลาดบ้านราคา กลาง-สูงของเอกชน
กระทรวงการคลัง ออก พ.ร.บ. การออมเพื่อการประกันการผ่อนชำระสำหรับอยู่อาศัยตลอดช่วงอายุขัย (Life-cycle Saving Policy for Life-long Housing Affordability) เพื่อส่งเสริมให้มีการวางแผนการซื้อ-ขายบ้านที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับ รายได้และวงจรชีวิต (Income and life-cycle model) ในการนี้ไม่ต้องใช้เงินกู้เฉพาะกิจเพื่อโควิด๑๙ เป็นหลัก แต่สามารถ ระดมทุน จากระบบการออมเพื่อการประกันชีวิต ในตลาดการประกันโดยครัวเรือนและเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมการประกัยชีวิต-ประกันภัย เพียงแต่รัฐฯต้องใช้เงินกู้โควิด๑๙ หนุนการประกันความเสี่ยงในการกู้ยืมของผู้มีรายได้ในชั้น รายได้ น้อย-กลาง (Income quintile 1 and 2) ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อฯ ในระยะยาว และสามาระเปลี่ยนที่อยู่อาศัย ณ ระดับชั้น รายได้-ชั้นอายุ (income class – age cohort ) พ.ร.บ. การออมที่เสนอในรายงานนี้จะเป็นกรอบของการเกิดของตลาดบ้านมือสองที่จะส่งเสริมการถือครองที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อย-กลาง ตามชั้นอายุ-รายได้ของผู้ออม (หัวหน้าครัวเรือน) จะทำให้ตลาดบ้านทั้งที่สร้างใหม่และมือสองมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
การฟื้นฟูประเทศต้องการ “ทีมเศรษฐกิจ” ที่มีความรู้ความสามารถเกินกว่าการบริหาร พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ด้านสุขภาพ ให้ปลอดจากโควิด๑๙ เพราะประเทศไทยกำลังสู้กับภัยที่ รัฐบาลทหาร-ตำรวจไม่สามารถสู้ได้ในเชิงอำนาจปกครอง-กฎหมายหรืออาวุธ หากแต่ต้องใช้ศาสตร์และศิลปที่เป็นมืออาชีพ เชื่อว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่ใช่ทีมที่เหมาะสมตามมาตรฐานนี้ การที่ท่านนายกรัฐมนตรีประสบความสำเร็จด้านการหยุดโรคระบาดโควิด๑๙ ได้ไม่มากก็น้อย น่าจะถึงเวลาที่ ฯพณฯ เปิดโอกาสให้ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ-มหภาค การเงิน ธุรกิจรายสาขา รัฐสภาและ ประชาชนในวงกว้าง ฯลฯ เข้ามาร่วมกำหนดชะตากรรมประเทศด้วยกันต่อไป.
-จบ-
[1] ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภายในประเทศเบื้องต้นในราคาปัจจุบัน (๑๖.๑๓ ล้านล้านบาท ณ ปี ๒๕๑๘ (ล่าสุด จากบัญชีประชาชาติ สศช ๒๐๑๘ https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10074&filename=ni_page หน้า ๙๔ ประกอบด้วยการบริโภค (๘.๐ ล้านๆ บาท ร้อยละ ๔๙.๑ ของการรายจ่ายประชาชาติเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติฯ) การลงทุน (๓.๗ ล้านๆ บาท) การส่งสินค้าออกสุทธิ (การส่งออก ๑๐.๖ ล้านๆบาท หักด้วยการนำเข้า ๙.๑ ล้านๆบาท) สินค้าและบริการ การใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง (๒.๖๔ ล้านๆบาท) และการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง
[2] การบริโภคลดลงร้อยละ ๕๐ อิงจากนัยของการประมาณการโดยองค์ระหว่างประเทศ ในปี ๒๐๒๐ หากใช้ยอดการบริโภคในภาวะก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ (ปี ๒๐๑๙ ) ของปี ๒๐๑๘ เป็นฐานเพราะเป็นปีปรกติก่อนโควิทและวิกฤตเศรษฐกิจไทย สมมุติว่าการใช้จ่ายอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบรายจ่ายประชาชาติ (เท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมฯ) ไม่เปลี่ยนแปลง